วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475


.สภาพการเมืองการปกครอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติใน พ.ศ.2468 พระองค์ได้ทรงตระหนักมาก่อนแล้วว่า พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์กำลังพูกพวกปัญญาชนมองไปในทางที่ไม่ดีมาตั้งแต่รัชกาลก่อน และความรู้สึกระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ตกอยู่ในภาวะที่แตกแยกกัน ดังนั้นพระองค์จึงรงตั้ง “อภิรัฐมนตรีสภา” เพื่อรวบรวมพระบรมวงศ์ที่อาวุโสสูง แต่ยังทรงทันสมัยด้วยมีประสบการณ์มาก มาทรงทำงานร่วมกันเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่พระราชวงศ์ และทรงช่วยแบ่งเบาพระราชกิจของพระองค์ด้วย
อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสถาบันใหม่ตั้งขึ้นภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 วัน มีหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาเกี่ยบกับกิจการการเมืองการปกครองและนโยบายของประเทศ สมาชิกของอภิรัฐมนตรีสภามี 5 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดชทรงเป็นองค์ประธาน
สมเด็จพระเจ้ายาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ
ผลปรากฏว่า การที่ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอภิรัฐมนตรีสภาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการและประชาชนว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอขาดความเชื่อมั่นในพระองค์เองและตกอยู่ใต้อำนาจของอภิรัฐมนตรีสภา ซึ่งพระองค์เองก็ทรงตระหนักดี ดังที่พระองค์ได้ทรงอ้างถึงในเร่องนี้ในพระราชบันทึกถึงพระยากลัยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บีแชร์) ว่า “ ที่ว่าการมีอภิรัฐมนครีสภาเป็นการลดเกียรติภูมิของพระมหากษัตริย์ลงไปนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่าจริง “ และจากการที่ทรงตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้มีการเปรียบเทียบกับการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และสภาที่ปรึกษาของพระองค์ (Privy Council) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งนั้น “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสามัญชนขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูง ๆ ในการปกครองของประเทศ พอ ๆ กับที่พระองค์แต่งตั้งเจ้า แต่ในอภิรัฐมนตรีสภานี้ หากมีสามัญชนสักคนไม่ และนี่จะเป็นจุดสำคัญในอนาคต
พระยากัลยาณไมตรีได้ตอบตามพระราชบันทึกและทูลเกล้าถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับสั้น ๆ มีเพียง 12 มาตรา เสนอโครงสร้างของรัฐบาล ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Outline of Preliminary Draft” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา พร้อมกับบันทึกความเห็นของพระยากับยาณไมตรีว่า ขอให้ทรงใช้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปก่อน แต่ขอให้ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงแทนพระองค์ เพื่อช่วยดูแลให้รัฐมนตรีปฏิบัติราชการให้ถูกต้องตามนโยบายให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ได้เอง ยกเว้นกระทรวงกลาโหมขึ้นครองต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อพระมหากษัตริย์จะได้รงควบคุมทหารทั้งสามกองทัพไว้ด้วยพระองค์เอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพไม่ทรงเห็นด้วยกับการที่ให้มีนายกรัฐมนตรีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ดีไม่สามารถ พระมหากษัตริย์จะรงอ้างเหตุผลใดในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีที่พระองค์ทรงแต่งตั้งขึ้นมาเอง การมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นวิธีการของการปกครองในระบบรัฐสภา ทั้งทรงแนะนำว่า การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ได้อยู่ ขอให้แก้ไขระบบบริหารราชการให้ดีขึ้นเท่านั้นพอ
เรื่องที่อภิรัฐมนตรีสภาคัดค้านอีกเรื่องหนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนรู้เห็นการประชุมสภากรมการองคมนครีในกรณีที่ไม่ใช่เป็นการประชุมลับ โดยทรงมีวัตถุประสงค์ให้เป็นวิธีการทดลองและเรียนรู้วิธีการประชุมปรึกษาของ รัฐสภาซึ่งจะมีในอนาคต ประชาชนและองคมนตรีที่จะทรงอนุญาตให้เข้าฟังการประชุมมีจำนวนเกือบ 200 คน การคัดค้านจากสมาชิกอภิรัฐมนตรีส่วนมากทำให้พระราชประสงค์ในข้อนี้ชะงักงัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2474 นายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิศาลวาจา ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ “Outline of Changes in the form of Government” ตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำชับว่า “ฉันมีความประสงค์จะให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุด” ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาได้กราบทูลคัดค้านว่ายังไม่ถึงเวลาอันควร เกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว จะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองในภายหลัง การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นกลุ่มปัญญาชนให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจพระบรมราโชบายทางการเมืองการปกครองประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ไข
เนื่องจากประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2467 – 2474 ประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำตามสภาพการณ์เศรษฐกิจของโลก อันมีสาเหตุจากการที่ประเทศต่าง ๆ ต้องใช้จ่ายเงินไปในการบูรณะประเทศซึ่งเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ต้องเลี้ยงดูผู้เจ็บป่วยทุพพลภาพจากสนามรบอีกประการหนึ่งการวิทยาสาสตร์เจริญก้าวหน้า โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนงานกสิกรรมได้หันไปใช้เครื่องจักรแทนแรงคนกันมากขึ้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วกว่า จึงทำให้กรรมกรว่างงานมากขึ้นความเดือดร้อนวุ่นวายในด้านการครองชีพจึงติดตามมา ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรมการกรทบกระเทือนทางเศรษฐกิจมาถึงช้า และไม่ได้วุ่นวายเหมือนประเทศอุตสาหกรรม แต่ก็มีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเหมือนกันซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีผลสะท้อนจากสภาพการณ์ของโลกและอีกประการหนึ่งเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ เพราะไม่มีการประหยัดค่าใช้จ่ายในรัชกาลที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในพระราชสำนักสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมด้านโขนละคร การซ้อมรบของเสือป่ามีเป็นประจำทุกปี และกิจกรรมอื่น ๆ อีก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพยายามแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศด้วยพระปรีชาญาณอันสุขุม ให้กระทบกระเทือนถึงประเทศชาติและประชาชนน้อยที่สุด วิธีแรก คือทรงตัดทอนรายจ่ายให้ลดน้อยลง ให้กระทรวงทุกกระทรวงตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ให้ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนที่ไม่จำเป็นออกจากราชการ การตัดทอนรายจ่ายนี้มิใช่ตัดแต่คนอื่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ตัดเงินรายได้ที่รัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์ 4 ล้านบาท ในปี 2469 เงินงบประมาณส่วนพระองค์ที่ถูกตัดนี้มีค่าร้อยละ 46 ของยอดรวมของงบประมาณแผ่นดินในปีนั้น ลดจำนวนมหาดเล็กจาก 3,000 คน เหลือเพียง 300 คน ในระยะต่อมาให้ยุบกรมหรือกองใดที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน กระทรวงหรือกรมใดที่พอจะรวมหน้าที่กันเข้าไว้ได้ก็ให้รวมกัน ดังนั้นกระทรวง 12 กระทรวง จึงเหลือ 10 กระทรวง และยังทรงให้ยกเลิกภาค ยุบมณฑลและจังหวัดอีกหลายแห่ง
ในการปรับปรุงแก้ไขให้การเงินของประเทศเข้าสู่ดุลยภาพ ได้ทรงทำด้วยวิธีต่างๆ เป็นหลายครั้งหลายครา เช่น ทรงหันมาใช้วิธีเพิ่มภาษีอากร โปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีศุลกากรฉบับใหม่ โดยเพิ่มภาษีสินค้าขาเข้าทุกชิ้นในอัตราอย่างต่ำสุดร้อยละ 5 จนถึงร้อยละ 50 ของต้นทุน และตราพระราชบัญญัติเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ประเภท ได้แก่ ภาษีโรงงาน ภาษีที่ดิน ภาษีหลังคาเรือน และภาษีเงินเดือน เป็นต้น
ในขณะที่มีการตัดทอนรายจ่ายทั่วทุกกระทรวงนั้น นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ขอจ่ายเงินเป็นพิเศษเป็นค่าก่อสร้างโรงทหารเป็น จำนวนเงิน 1,658,253 บาท รวมสองรายการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติไม่อนุญาตให้ใช้จ่าย และยังตั้งข้อสังเกตว่าทุกกระทรวงได้ช่วยกันพยายามตัดทอนรายจ่าย แต่กระทรวงกลาโหมกระทรวงเดียวนอกจากไม่พยายามจะช่วยแล้ว ยังทำให้เป็นกังวลที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติต้องโต้ตอบเรื่องการก่อสร้างที่ไม่มีความรีบด่วนแต่อย่างใด ในเวลาที่ต้องคิดวิธีแก้ความลำบากยากจนของประเทศเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ระบุว่า
....ในคณะเสนาบดี มีเสนาบดีกระทรวงกลาโหมผู้เดียวที่ขาด
Co-operation และไม่ Sympathy กับบ้านเมืองในความคับขันของ
การเงินแผ่นดิน… ในเวลาคับขันเช่นนี้ถ้าขาด Co-operation
ในคณะเสนาบดี ความยากก็มากขึ้นทวีคูณ....
ความขัดแย่งกันถึงขั้นรุนแรง คือ เสนาบดีกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ.2474 สาเหตุจากระทรวงพระคลังมหาสมบัติงดจ่ายเงินที่เลื่อนขั้นเงินเดือนในยศเดิม 91 นาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นกำลังเสด็จพระราชดำเนินสหรัฐอเมริกา เพื่อการผ่าตัดพระเนตรที่ประชวรเป็นต้อ ได้ทรงมีพระราชโทรเลข ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2474 ทูล จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ให้พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ ออกได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นที่เสียหายแก่ทางราชการ จนถึงที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาลงมติให้เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยเรียกพวกหนังสือพิมพ์ทั้งหมดมาตักเตือน รวมทั้งการดุลข้าราชการ สาเหตุทางเศรษฐกิจจึงเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นำมาอ้างเป็นเหตุผล
3. ความไม่พอใจในความแตกต่างทางฐานะด้านสังคม
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อีกเรื่องหนึ่งว่าทรงแต่งตั้งเจ้านายเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาแทนพวกสามัญชน ซึ่งเดิมได้รับการแต่งตั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นถึงแม้ว่าเจ้านายแต่ละองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งจะทรงมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม ก็ย่อมกระทบกระเทือนสำนึกแห่งชนชั้นในหมู่สามัญชนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการดุลข้าราชการในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ถูกดุลเป็นสามัญชน แล้วแต่งตั้งพวกเจ้าเข้าแทนหรือไม่ดุลข้าราชการที่เป็นเจ้า เป็นต้น มีข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์ว่า
…แต่มาบัดเดี๋ยวนี้ มีเสียงคนไทยเป็นอันมากพากันทึ่งในความดำเนิน
รัฐกิจของรัฐบาล ในเมื่อเห็นเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ที่ถูกดุลออก
ไปโดยปริยาย ซึ่งเสนาบดีนั้น ๆ ไม่ใช่เจ้าและบรรจุเจ้าเข้าแทน…
ส่วนพระยาทรงสุรเดชวิจารณ์ไว้ว่า
…เป็นความจริงที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 มิได้แสดงความสามารถที่จะแก้ไข
งานของชาติให้รุ่งเรืองขึ้นได้ มุ่งแต่จะฟื้นฐานะของเจ้าที่ตกต่ำมาแต่ครั้ง
รัชกาลที่ 6 ให้รุ่งโรจน์ขึ้น… ความจริงไม่เป็นการเสียหายอะไร ถ้าตั้ง
เจ้าหน้าที่ที่เฉียบแหลมสามารถขึ้นทำหน้าที่สำคัญ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น
ดูสักแต่ว่าเป็นเจ้าละก็ตั้งได้โดยไม่จำกัดเสียเลย…
4.ความไม่พอใจระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 นั้น น่าจะมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ประเทศไทยมีมาช้านาน ให้เป็นแบบประชาธิปไตยตามแบบอย่างประเทศตะวันตกส่วนความวิกฤติทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุรองเท่านั้น การศึกษาของกุลบุตรชั้นสูงของสังคมไทยค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่แบบตะวันตก สืบเนื่องจากการปรับปรุงบ้านเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตยได้แพร่เข้ามาสู่ประชาชนไทยด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีกลุ่มข้าราชการไทยทีรับราชการในวงการทูตยุโรป กราบบังคมทูลให้มีการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นแบบมีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2474 (ร.ศ. 103) ข้อเสนอของเทียนวรรณในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดกบฏ ร.ศ.130 เมื่อ พ.ศ. 2454 เพื่อให้เปลี่ยนการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยตามประเทศญี่ปุ่น ตุรกี และจีน แต่การกบฏ ร.ศ.130 ไม่เป็นผลสำเร็จ
ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มปัญญาชนที่เคยศึกษาวิทยาการแบบตะวันตกมีมากขึ้น คนรุ่นใหม่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาในยุโรปมากขึ้น คนเหล่านี้ศึกษาลัทธิประชาธิปไตย ความเสมอภาค เสรีภาพ ศึกษาเรื่องรัฐสภา รัฐธรรมนูญ และวิธีบริหารของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ก็ได้ตั้งความหวังไว้ว่า ประเทศไทยจะมีการปกครองแบบรัฐสภา แต่การตั้งความหวังไว้ไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวัง ไม่มีการตั้งสถาบันการเมืองที่สอดคล้องกับแนวความคิดประชาธิปไตย ความล่าช้าในการปรับปรุงการบริหารแผ่นดิน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่คิดว่าอำนาจเด็ดขาดไม่ควรอยู่ที่พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ซึ่งทำให้การบริหารแผ่นดินผิดพลาดได้ง่าย ความรู้สึกไม่พอใจในความล่าช้าเห็นได้จากบันทึกของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกผู้ก่อการในคณะราษฎรที่ยึดอำนาจการปกครอง ได้ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีดังนี้
…การพิจารณาออกใช้พระราชบัญญัติเทศบาลก็คาราคาซังอยู่เป็นแรมปี…
การปรับปรุงเรื่องการปกครองที่จะให้รัฐธรรมนูญเป็นรากฐานการบริหารประเทศนั้น
ได้รีรอกันมาถึง 3 รัชกาล แล้วมีแต่เรื่อง จะ จะ จะ พิจารณาและเหนี่ยวรั้งกันตลอด
จึงเป็นภาวะอันสุดแสนที่จะทนทาน ที่จะรีรอกันต่อไปได้…
จะเห็นได้ว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีอยู่หลายประการทั้งสภาพการเมืองการปกครอง ปัญหาเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความไม่พอใจในความแตกต่างระหว่างกลุ่มบุคคล และความไม่พอใจที่ไม่ได้ตามความมุ่งหวังในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
เพื่อการสนับสนุนข้อความที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้นำคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกจิร วิชิตสงคราม ผู้ซึ่งรับราชการทหารมา 5 แผ่นดิน ตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงแผ่นดินปัจจุบัน มากล่าวไว้ในที่นี้
จากการให้คำสัมภาษณ์ พลเอก จิร วิชิตสงคราม เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ท่านได้สรุปสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ว่า เนื่องมากจากเหตุการณ์ 3 อย่างมาบรรจบกัน คือ
1) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ รายได้ไม่สมดุลย์กับรายจ่าย สินค้าที่ผลิตได้ก็ไม่มีใครซื้อ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เก็บภาษีเพิ่ม และปลดข้าราชการออก ความปั่นป่วนที่มาจากเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ประชาชนทั่วไปคิดว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถ
2) นักศึกษาทั้งหลายที่ประเทศไทยส่งออกไปศึกษาในต่างประเทศ ได้เห็นการปกครองของประเทศยุโรปแตกต่างไปจากของประเทศไทย เช่น ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส เมื่อได้ศึกษาถึงควมเจริญก็เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง
3) ประเทศไทยในเวลานั้น ตำแหน่งสำคัญชั้นผู้ใหญ่ล้วนแต่เจ้านายในราชวงศ์ เจ้านายที่รองลงมาที่ทำงานร่วมกับข้าราชการทั่วไปก็จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเร็วกว่า ทั้งนี้เพราะการให้ความดีความชอบมีหลายลักษณะ เช่น ปีแรกได้บรรดาศักดิ์ ปีที่สองได้เหรียญตรา ปีที่สามจึงจะได้เลื่อนขั้นเงินเดือน ส่วนข้าราชการที่เป็นเจ้าตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องรอให้ขอบรรดาศักดิ์ ไม่ต้องรอให้ได้เหรียญตรา ก็เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ทุกปี ลักษณะนี้ทำให้ ข้าราชการทั่วไปคิดถึงความเสมอภาค และเป็นสาเหตุให้เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น