วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา



การปกครองสมัยกรุงศรีอยุธยา


กรุงศรีอยุธยา เคยเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัยมาก่อน เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลง ปรากฎว่าหัวเมืองมอญซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นได้ก่อการกบฎกรุงสุโขทัยนั้นไม่สามารถปราบปรามได้ พระเจ้าอู่ทองทรงเห็นว่ากรุงสุโขทัยอ่อนอำนาจลง จึงประกาศอิสรภาพและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงตามแบบขอม คือ แบบเทวสมมติ (Divine rights)
ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมติ หรือเทวสิทธิ์นี้ มีข้อน่าสังเกตุอยู่ 3 ประการ คือ
1. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ2. พระเจ้าทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้ปกครองรัฐ3. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว
ระบบเทวสิทธิ์นี้ ถือคติการปกครองมาจากขอมและฮินดูโดยแบ่งแยกผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้การปกครองออกจากกัน พระมหากษัตริย์ถูกยกย่องให้เป็นสมมุติเทพเช่นพระอิศวรหรือพระนารายณ์"การปกครองแบบเทวสิทธิ์ กระทำให้ชนชั้นปกครองกลายเป็นชนชั้นหนึ่งต่างหาก มีอภิสิทธิ์เสมือนเทพเจ้าตามคติของฮินดูราษฎรกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจและผู้ถูกปกครองอย่างแท้จริง สมบูรณาญาสิทธิราชถือกำเนิดมาจากระบบนี้และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าวหรือทาส และระบบศักดินา"
ลักษณะการปกครองสมัยโบราณนั้น มีเค้าเงื่อนปรากฏเป็นลักษณะการปกครอง 2 แบบ คือ แบบหนึ่งเป็นแบบขอมเข้ามาครอบครองถิ่นฐานประเทศอยู่เดิม ขอมมีการปกครองตามคติที่ได้มาจากอินเดียส่วนไทยปกครองอย่างแบบไทยเดิม ส่วนทางใต้ปกครองตามแบบขอมเพราะขอมยังมีอำนาจอยู่ในเมืองต่าง ๆ เช่น ละโว้และเมืองอื่น ทางใต้การปกครองของขอมและของไทยมีที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือถืออาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นใหญ่ ต่างก็มีพระมหากษัตริย์ด้วยกันทั้งสองแบบแต่ของขอมนั้นถือลัทธิตามชาวอินเดีย คือสมมุติพระมหากษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ พระอิศวรหรือพระนาราย์แบ่งภาคมาเลี้ยงโลกและอาศัยความเป็นเจ้าตำราการปกครองลักษณะการที่ขอมเข้าปกครองราษฎร จึงคล้ายกับนายปกครองบ่าว (Autocratic government) ส่วนการปกครองของไทยนั้น นับถือพระจ้าแผ่นดินเป็นบิดาของประชาชน วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองของสกุลมาเป็นคติ และถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน
ต่อมาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ทรงได้ปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่ โดยมีพระมหากษัตริยเ์ป็นผู้อำนวยการปกครองเรียกการปกครองแบบนี้ว่า การจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นราชธานีและเมืองพระยามหานครตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าราชธานีมีวงเขตแคบลงทั้งนี้ก็ด้วยมีความประสงค์ให้หัวเมืองชั้นในติดต่อกับราชธานีได้โดยสะดวก ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นเมืองพระยามหานครนั้นอยู่ห่างไกลออกไปจากราชธานี เมื่อการคมนาคมยังไม่เจริญ ก็ย่อมติดต่อกับราชธานีได้โดยมากราชการบริหารส่วนกลางไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิด เมืองพระยามหานคร จึงเกือบไม่ขึ้นต่อราชการบริหารส่วนกลางเลย เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเหล่านั้นเป็นผู้แทนพระมหากษัตริย์และได้รับการมอบหมายให้ใช้อำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการปกครอง และในทางตุลาการ เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแล้วก็มีอำนาจที่จะปกครองเมืองได้อย่างเต็มที่ เกือบไม่ต้องขึ้นหรือคอยรับคำสั่งจากราชธานีด้วยเหตุนี้เมื่อพระมหากษัตริย์ใดทรงมีอานุภาพก็รักษาเอกภาพแห่งพระราชอาณาจักรไว้ได้อย่างเรียบร้อย แต่ถ้าพระมหากษัตริย์องค์ใดหย่อนอานุภาพลง เจ้าเมืองมักจะคิดตั้งตนเป็นอิสระทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาณาจักรไม่มั่นคง เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากราชการส่วนกลางและราชการปกครองส่วนภูมิภาคไม่มีความสัมพันธ์กันเพียงพอ
รัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งได้ทรงปรับปรุงรูปแบบการปกครองขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร สำหรับฝ่ายพลเรือนรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทางด้านเวียง วัง คลัง นา มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนกิจการเกี่ยวกับทหารและการป้องกันประเทศ เช่นกรมช้าง กรมม้าและกรมทหารราบ มีสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของการจัดการปกครองประเทศการปกครองได้เป็นไปในทางเสริมสร้างสมบูรณาญาสิทธิราชเต็มที่ เพราะได้พวกพราหมณ์และพวกเจ้านาย ท้าวพระยามาจากกรุงกัมพูชา ซึ่งมีความชำนาญทางการปกครองอย่างถ้วนถี่ดีกว่าที่เคยรู้มาแต่ก่อนไว้ ดังนั้นแนวความคิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันแห่งพระองค์ ก็คงจะต้องเข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าแต่กาลก่อน คือถือว่าเป็นสมมติเทวราชเต็มรูปแบบสำหรับการปรับปรุงแก้ไขการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาค อันเป็นผลของการปฏิรูปดังกล่าวนั้นก็คือได้มีการขยายเขตราชธานี และหัวเมืองชั้นในออกไปให้กว้างกว่าเดิม เพื่อที่จะได้รวมอำนาจการปกครองเข้าไว้ในส่วนกลางให้ราชการบริหารส่วนกลาง สามารถควบคุมส่วนภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้นและจัดหัวเมืองชั้นในอยู่ในวงของราชธานีเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ส่วนหัวเมืองชั้นในพระมหากษัตริย์ทรงอำนวยการปกครองโดยมีเสนาบดีเป็นผู้ช่วย ฉะนั้นผู้ปกครองหัวเมืองชั้นในหรือเมืองชั้นจัตวาจึงเรียกว่า "ผู้รั้ง"ไม่ใช่เจ้าเมืองและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งชั่วเวลา 3 ปี ส่วนกรมการอันเป็นพนักงานปกครองก็ขึ้นอยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้ากระทรวงต่างๆ ในราชธานีนอกจากนั้นปรากฎตามกฎมนเทียรบาลและทำเนียบศักดินาหัวเมืองได้เลิกเมืองลูกหลวง 4 ด้านของราชธานีตามที่มีมาแต่ก่อน คงให้มีฐานะเป็นเพียงเมืองชั้นจัตวาอาณาเขตวงราชธานี ซึ่งได้ขยายออกไปภายหลังการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ ส่วนระเบียบการปกครองเมืองภายนอก วงราชธานียังคงจัดเป็นเมืองพระยามหานครตามเดิม แต่แบ่งออกเป็นเมือง ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรีเมืองชนิดนี้ต่อมาเรียกว่ หัวเมืองชั้นนอกเพราะอยู่วงนอกราชธานีและอยู่ห่างไกลหรือเพราะอยู่หน้าด่านชายแดนแต่ละเมืองก็มีเมืองอยู่ในอาณาเขตทำนองเดียวกับวงราชธานีและบรรดาเมืองชั้นนอก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดอย่างเป็นผู้ต่างพระองค์ทุกอย่างและมีกรมการพนักงานปกครองทุกแผนกอย่างเช่นในราชธานีหัวเมืองต่อนั้นออกไป ซึ่งเมืองชนต่างชาติต่างภาษาอยู่ชายแดนต่อประเทศอื่นให้เป็นเมืองประเทศราชมีเจ้านายของชนชาตินั้นปกครองตามจารีตประเพณีของชนชาตินั้นๆ และเมืองนั้นต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองกับเครื่องราชบรรณาการมีกำหนด 3 ปีครั้งหนึ่ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคปลีกย่อยออกไปอีก ซึ่งได้แก่การจัดระเบียบการปกครองภายในเมืองหนึ่งๆทั้งหัวเมืองชั้นนอกและชั้นใน หรือเรียกว่า ระเบียบการปกครองท้องที่ โดยแบ่งเมืองออกเป็นแขวง แขวงแบ่งออกเป็นตำบล ตำบลแบ่งออกเป็นบ้าน ซึ่งเป็นที่รวมของหลาย ๆ ครัวเรือนแต่มิได้กำหนดจำนวนคน หรือจำนวนบ้านไว้การแบ่งเขตการปกครองตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีรูปร่างผิดแปลกไปกับการปกครองสมัยปัจจุบันมาก นักกฏหมายปกครองท้องที่ตราขึ้น ในสมัยหลังได้ร่างขึ้นโดยอาศัยรูปการปกครอง ซึ่งมีอยู่แต่เดิมเป็นหลักใหญ่และได้แก้ไขดัดแปลงบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
การปกครองระบบเทวสิทธิ์นี้ ถ้าจะพิจารณาถึงผลสะท้อนที่เกิดกับการบริหารแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในสมัยนั้น เมื่อมีการสถาปนาประเทศเข้าสู่เสถียรภาพ ข้อเสียของระบบเทวสิทธิ์ก็ปรากฏขึ้นเช่นชนฝ่ายปกครองหรือกษัตริย์ถูกแยกห่างออกจากฝ่ายถูกปกครองคือประชาชนมากเกินไปจนกลายเป็นชนชั้นหนึ่งอีกต่างหาก ซึ่งแตกต่างจากการปกครองระบบบิดาและบุตรมาก ประกอบกับชนชั้นปกครองระดับรองลงมา อันได้แก่ มูลนายต่าง ๆ ช่องทางการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เกิดการกดขี่ทารุณและคดโกงขึ้น ตำแหน่งพระมหากษัตริย์กลายเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและอภิสิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งพึงปรารถนาในทางโลก ผู้ใดยึดครองตำแหน่งย่อมได้มาทั้งอำนาจและอภิสิทธิ์ต่างๆ ดุจเทพเจ้า ฉะนั้นตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการปกครองใต้ระบบเทวสิทธิ์ ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งทำให้เป็นมูลเหตุไปสู่ความอ่อนแอ และต้องสูญเสียเอกราชให้แก่ข้าศึกไปถึงสองครั้งสองครา ซึ่งประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาจะยืนยันข้อความจริงดังกล่าวได้ดี เหตุการณ์เช่นนี้มิได้มีปรากฎในสมัยสุโขทัย ซึ่งถือการปกครองระบบบิดากับบุตร เพราะตำแหน่งกษัตริย์เป็นเพียงเสมือนตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเท่านั้นเมื่อคนที่ได้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าสิ้นไป คนใหม่ที่มีอาวุโสรองลงไปจะเข้ารับหน้าที่แทน มิได้ถือว่าเป็นตำแหน่งพิเศษเปี่ยมด้วยอภิสิทธิ์ดังระบบเทวสิทธิ์
ข้อเสีย ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของระบบเทวสิทธ์ที่สะท้อนเป็นมรดกต่อการปกครองมาจนกระทั่งปัจจุบันคือได้สร้างสภาพจิตใจคนไทยให้มีความนิยมนับถือในตัวบุคคลมากกว่าหลักการเกินไปซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดนิสัยราษฎรเลือกผู้ปกครองของตนโดยอารมณ์ในด้านความชอบพอรักใคร่ยกย่องนับถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าในเรื่องหลักเกณฑ์และอุดมการณ์
ข้อน่าสังเกต อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการปกครองระบบเทวสิทธิ์ที่มีต่อการปกครองปัจจุบันระบบโครงสร้างของประชาคมไทยประกอบด้วยชนชั้นใหญ่ ๆ เพียง 2 ชั้น คือชนชั้นปกครองและชนชั้นถูกปกครอง ชนชั้นปกครองนั้นได้แก่ พระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นองค์ประมุขของชาติกับบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ส่วนชนชั้นถูกปกครองคือ บรรดาเกษตรกรพ่อค้าและประชาชนทั่วไปอย่างไรก็ดีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นไม่ใคร่ มีทั้งนี้เพราะชนชั้นถูกปกครองยอมรับสถานะตนอันเป็นผลทำให้ประชาชนคอยพึ่งบริการจากทางราชการอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะขาดกลุ่มผลประโยชน์ที่จะคอยรักษาผลประโยชน์แทนประชาชน จึงเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นถูกปกครองทั้งยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มในทางที่ประชาชนต้องเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองในลักษณะนี้ตลอดไปการที่ปล่อยให้เกิดช่องว่างเช่นนี้ ทำให้บรรดาข้าราชการซึ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครองต้องรับภาระเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนตลอดไป ในลักษณะเช่นนี้สภาพความนึกคิดระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองมักมองไปคนละแง่คนละมุมความต้องการของประชาชน จึงมักเป็นสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ความต้องการจะสนองเจตนารมณ์ของประชาชน หรือไม่ก็เป็นความยากลำบากอยู่ไม่น้อยที่จะทราบได้ ต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยาก็จะถึงสมัยกรุงธนบุรีในสมัยนี้การจัดระเบียบการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็คงถือหลักที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะนับตั้งแต่พระเจ้าตากสินทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว บ้านเมืองยังไม่สงบราบคาบมีหัวเมืองบางแห่งแข็งเมืองคิดขบถจึงต้องเสียเวลาไปปราบปรามหลายครั้ง มิหนำซ้ำพม่ายกกองทัพมาตีเมืองไทยอยู่เสมอก็ต้องเสียเวลายกกองทัพไปทำศึกกับพม่าอยู่เสมอพระองค์ จึงไม่มีโอกาสที่จะทำนุบำรุงประเทศและปรับปรุงการปกครองเลย







อาณาเขต



กรุงศรีอยุธยา ที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงก่อตั้งในปี พ.ศ.1893 นั้นมีทำเลที่ตั้งที่ดีมาก ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และในด้านการค้า กล่าวคือ ตัวเมืองอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มมีแม่น้ำล้อมรอบถึง 3 ด้าน ได้แก่ แม่น้ำลพบุรีทางด้านเหนือ แม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านตะวันตกและด้านใต้ ดังนั้นเพียงแต่ขุดลำคูขื่อหน้าทางด้านตะวันออกเชื่อมแม่น้ำเหล่านั้น อยุธยาก็กลายเป็นเมืองเกาะที่มีลำน้ำรอบครบทั้ง 4 ด้าน ลักษณะเช่นนี้นับเป็นปราการธรรมชาติอันมั่นคงช่วยป้องกันการโจมตีของข้าศึกเป็นอย่างดี นอกจากนั้นการตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มทำให้ช่วงระยะระหว่าง เดือนกันยายน - ธันวาคมของทุกปี จะมีน้ำหลากท่วมรอบกรุงศรีอยุธยาเป็นบริเวณกว้าง เท่ากับเป็นการบังคับให้ฝ่ายข้าศึกมีโอกาสล้อมโจมตีกรุงศรีอยุธยาได้เพียงปีละ 8 เดือนเท่านั้นและเมื่อล้อมอยู่ถึงหน้าน้ำหลากแล้ว ก็จำต้องยกทัพกลับไปโดยปริยาย
ทำเลที่ตั้งเช่นนี้นอกจากจะให้ผลดีในด้านยุทธศาสตร์แล้วยังทำให้อยุธยา สามารถติดต่อค้าขายกับอาณาจักรที่อยู่ลึกเข้าไป เช่นสุโขทัยได้สะดวกโดยอาศัย แม่นำเจ้าพระยาและสาขา นอกจากนั้นการที่อยุธยาตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำที่ลึกเข้าไป ในผืนแผ่นดินแต่ก็ไม่ไกลจากปากน้ำจนเกินไป จึงทำให้อยุธยาสามารถติดต่อ ค้าขายทางเรือกับต่างประเทศได้อย่างสะดวก รวมทั้งสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้า คนกลางติดต่อค้าขายระหว่างพ่อค้าจีน ญี่ปุ่น กับพวกพ่อค้าต่างชาติอื่นๆ อยุธยา จึงเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ
นอกจากทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมมาก ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และด้านการค้า แล้วมีข้อน่าสังเกตว่าตั้งแต่แรกก่อตั้งอาณาจักร อยุธยามีพื้นฐานที่ดีทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และด้านกำลังทางทหารซึ่งพื้นฐานที่ดีทั้ง 3 ประการนี้มีส่วนอย่างมากในการช่วยเกื้อหนุน ให้อยุธยาสามารถพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองสร้างความเป็นปึกแผ่นได้อย่างรวดเร็ว จนก้าวเป็นศูนย์อำนาจทางการเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งทางตอนบนและตอนล่าง




สภาพเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเกษตร



ตั้งแต่แรกก่อตั้งอาณาจักรอยุธยา มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีในด้านการค้าขายกับต่างประเทศ และยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรอีกด้วย เพราะอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง และพืชที่เพาะปลูกกันมากก็คือ ข้าว ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรทำให้อยุธยาสมารถผลิตอาหารเลี้ยงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่การเกษตรของอยุธยายังเป็นการเกษตรแบบพอยังชีพ กล่าวคือใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลักใหญ่ ด้านการชลประทานนั้นรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมแต่อย่างใดการขุดคลองต่างๆ ก็เพื่อสนองความต้องการทางด้านยุทธศาสตร์การคมนาคมและการระบายน้ำที่ท่วมตอนหน้าน้ำเท่านั้น มิได้ขุดเพื่อผลประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมโดยตรงแม้ว่ารัฐบาลในสมัยอยุธยาตอนต้น จะไม่ได้ส่งเสริมการเกษตรมากนัก แต่สภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินทำให้อยุธยาสามารถผลิตอาหารเลี้ยงดูผู้คน ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการเสริมสร้างและแผ่ขยายอาณาจักรการเกษตร จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจอยุธยามาตลอดระยะเวลา 417 ปี
การค้ากับต่างประเทศ
ในสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893-1991) การค้ากับต่างประเทศที่มีอยู่เป็นการค้าสำเภากับจีน ญี่ปุ่น อาหรับ มลายู อินเดียชวาและฟิลิปปินส์ แต่อยุธยามีการติดต่อค้าขายกับจีนมากที่สุด การค้าสำเภาส่วนใหญ่ในสมัยนี้เราดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์เจ้านายและขุนนางมีการค้าของเอกชนบ้าง การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้นจึงเป็นการผูกขาดกลาย ๆ หรือโดยทางอ้อม แต่ระดับของการผูกขาดยังมีไม่มากรูปแบบการค้าเสรียังมีอยู่พ่อค้าต่างชาติยังสามารถติดต่อค้าขายกับราษฎรและพ่อค้าชาติอื่น ๆ ที่อยู่ในอยุธยาได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านองค์กรของรัฐบาลคือพระคลังสินค้า เหมือนดังเช่นในสมัยหลัง กล่าวโดยสรุปการค้ากับต่างประเทศ นับเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ กล่าวคือหากรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการค้าเองก็จะได้ผลกำไรแต่ถ้าไม่ได้ค้าขายเองก็จะได้ภาษีซึ่งเรียกเก็บจากสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก
รายได้ของรัฐ
สันนิฐานว่าในสมัยอยุธยาตอนต้น รัฐบาลคงมีรายได้ประเภทต่าง ๆ ดังตอ่ไปนี้
จังกอบ คือ ค่าผ่านด่านขนอน ทางบกทางน้ำ เรียกเก็บจากสินค้าของราษฎรโดยเก็บชักส่วนสินค้าไว้ในอัตรา 1 ชัก 10หรือเก็บเป็นเงินตามอัตราขนาดยานพาหนะที่ขนสินค้าผ่านด่าน
อากร คือ การเก็บชักส่วนผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพอื่นๆ ที่มิใช่การค้าขายโดยตรง เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ผู้ที่ทำนาจะเสียหางข้าวให้แก่รัฐและจะต้องนำมาส่งเอง หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาลในการได้รับสิทธิต่าง ๆ เช่นอนุญาตให้เก็บของป่า จับปลาในน้ำ และต้มกลั่นสุรา เป็นต้น อัตราคงที่ประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้
ส่วย คือ เครื่องราชบรรณาการที่ได้จากประเทศราช
ฤชา คือ เงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎรเฉพาะรายในกิจการที่ทางราชการจัดให้เช่นการออกโฉนดตราสารหรือเงินปรับไหมที่ฝ่ายแพ้คดีจะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ รัฐบาลจะเก็บให้ครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "เงินพินัยหลวง"
รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ ได้แก่ ผลกำไร ภาษีสินค้าขาเข้า และภาษีสินค้าขาออก



สภาพสังคม การปกครองแบบจตุสดมภ์


ลักษณะทางสังคมของอยุธยาประกอบด้วยชนชั้นต่างๆตั้งแต่จุดสุดยอดถึงพื้นฐานของสังคม 6 ชนชั้น คือ
1. พระมหากษัตริย์ ทรงมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศทุกด้านเช่นในทางการเมืองทรงเป็นเจ้าชีวิตและเป็นประมุขของอาณาจักรและมีอำนาจเหนือชีวิตของทุกคนในสังคม ในทางสังคมทรงเป็นผู้นำสังคม และเป็นองค์อุปถัมภ์ของศาสนาพุทธในแง่สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ในฐานะแตกต่างจากสุโขทัย เพราะอยุธยาเป้นอาณาจักรที่กว้างขวาง จึงต้องเป็นสถาบันที่เข้มแข็งเป็นที่เกรงขามของประชาชน ด้วยเหตุนี้อยุธยาจึงรับคติเทวราชาเข้ามา ทำให้กษัตริย์อยู่ในฐานะเทพเจ้า
2. เจ้านาย ประกอบด้วยพระราชโอรสพระราชธิดาและเชื้อพระวงศ์พวกเจ้านายที่จะช่วยเหลือราชการแผ่นดินตามที่พระมหากษัตริย์มีบัญชา ซึ่งยศของเจ้านายแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
สกุลยศ เป็นยศที่เจ้านายแต่ละองค์ได้รับมาตั้งแต่กำเนิด
อิสริยยศ เป็นยศที่ได้รับพระราชทานเรื่องจากได้รับราชการแผ่นดิน
3. ขุนนาง ชนชั้นสูงที่รับราชการกับพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นชนส่วนน้อยในสังคมที่มีโอกาส เข้ารับราชการมักเป็นสังคมปิดเนื่องจากมีการสืบทอดตำแหน่งในวงศ์ตระกูลแลแหล่งที่มาของอำนาจ ขุนนางคือ กำลังคนที่อยู่ในความควบคุม ที่เรียกกันว่า ไพร่หลวง
4. พระสงฆ์ คือบุคคลที่บวชในพุทธศาสนาทุกคนเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชนชั้นปกครองกับพวกไพร่หรือสามัญชน พระสงฆ์ประกอบด้วย สมาชิก 2 พวก คือ พวกที่บวชตลอดชีวิตและพวกที่บวชชั่วคราวซึ่งชนชั้นไหนก็สามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้
5. ไพร่ เป็นเสรีชนที่ต้องให้แรงงานแก่รัฐบาลและถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือเจ้านาย ซึ่งรวมเรียกว่ามูลนาย ไพร่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม มีประมาณ 80-90% ของคนในสังคมอยุธยา
6. ทาส คือ ชนกลุ่มน้อยของสังคมที่ได้จากการกวาดต้อนผู้คนของเมืองที่แพ้สงครามหรือไพร่ที่ขายตัวเมื่อยากจนลง ทาสสมัยอยุธยาแบ่งอย่างกว้าง ๆ ได 2 ประเภท คือ
- ทาสที่สามารถซื้ออิสรภาพของตนเองคืนได้ เรียกว่า ทาสสินไถ่
- ทาสที่ซื้ออิสรภาพอขงตนเองไม่ได้ คือ ทาสเชลยศึกหรือลูกทาสเชลย
การเลื่อนชนชั้นในสังคมอยุธยาแม้ไม่มีกฏข้อห้ามในทางทฤษฎีว่าเลื่อนชั้นไม่ได้แบบอินเดียแต่ในทางปฏิบัติ มักจะทำได้ยากเพราะขุนนางย่อมไม่สนับสนุนไพร่ให้เข้ารับราชการซ้ำยังกีดกันเพราะอำนาจ อภิสิทธิ์ เกีรยติยศที่ขุนนางได้รับได้มาเพราะตำแหน่งราชการ เมื่อออกจากราชการก็จะหมดทั้งอำนาจ อภิสิทธิ์และเกียรติยศ จึงไม่สนับสนุนบุคคลอื่นให้เข้ารับราชการนอกจากลูกหลานของตนเอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลังการปฏิรูปการปกครองมีการเปลี่ยนแปลวทางสังคมที่สำคัญ 2 ประการคือ การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนาง และการรับวิทยาการจากตะวันตก
การขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นขุนนางได้กล่าวมาแล้วว่า รูปแบบการปกครองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงปฏิรูปจัดขึ้นใหม่นั้น ใช้ระบบขุนนางเป็นเครื่องมือในการบริหารด้วยเหตุนี้หลังการปฏิรูปการปกครองชนชั้นขุนนางจึงมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองมาจนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.2112 แม้ว่าชนชั้นขุนนางจะมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังมิได้มีอำนาจถึงขีดสูงสุด
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมาหาราช (พ.ศ.2133-2148) ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือได้ยกเลิกการส่งเจ้านายบางพระองค์ไปปกครองหัวเมืองชั้นนอกเช่น เมืองพิษณุโลก ให้บรรดาเจ้านายประทับในเมืองหลวง และให้พวกขุนนางเป็นผู้รับผิดชอบปกครองหัวเมืองทั้งหมด การปรับปรุงการปกครองครั้งนี้ ทำให้อำนาจของชนชั้นเจ้านายลดน้อยลงยิ่งกว่าเดิม ส่วนอำนาจของชนชั้นขุนนางซึ่งเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองได้ทวีมากยิ่งขึ้นถึงขีดสูงสุด จนขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสามารถตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ได้ในปี พ.ศ.2172 ขุนนางผู้นั้นคือเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ผู้ซึ่งได้แย่งชิงราชสมบัติจากพระอาทิตย์วงศ์เยาวกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย แล้วตั้งตนเองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง(พ.ศ.2172-2199)
กล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่ร้อยปีเศษของประวัติศาสตร์อยุธยา ปัญหาการเมืองการปกครองข้อหนึ่งที่อยุธยาประสบอยู่ตลอดเวลาคือการถ่วงดุลอำนาจชนชั้นเจ้านายและชนชั้นขุนนางให้อยู่ในดุลที่เหมาะสม ให้เจ้านายและขนนางคานอำนาจกันเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยากยิ่ง ในสมัยอยุธยาตอนต้นก่อนการปฏิรูปการปกครองเจ้านายผู้ครองเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวง มีอำนาจทางการเมืองมากก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติทุกครั้งที่โอกาสอำนายให้เมื่อแก้ปัญหาด้วยการลดอำนาจของเจ้านายลงชนชั้นขุนนางก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นแต่เมื่อไม่มีมาตรการควบคุมอำนาจที่ดีก็เปิดโอกาสให้ชนชั้นขุนนางเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติได้เช่นกันการรับวิทยาการจากตะวันตก
หลังการปฏิรูปการปกครอง ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรตุเกสได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีทางด้านการค้ากับอยุธยาในปีพ.ศ.2054 การเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกทำให้อยุธยาได้รับวิทยาการสมัยใหม่ในด้านการสงครามจากโปรตุเกส เช่น การทำปืนใหญ่ การหล่อกระสุนดำและการสร้างป้อมแบบฝรั่ง นอกจากนั้นยังมีการจ้างทหารโปรตุเกสเข้ามาเป็นทหารอาสาในกองทัพอยุธยาด้วยอย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตว่า อยุธยาสนใจที่จะรับวิทยาการจากตะวันตกเฉพาะในด้านการสงครามเท่านั้น ไม่สนใจวิทยาการทางด้านอื่นๆ เช่น ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์เรื่องโลกกลม และเรื่องระบบสุริยจักรวาล ความรู้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น
การมีอาวุธที่ทันสมัยทำให้อยุธยามีอำนาจทางด้านการทหารมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองออกไปในดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลจากอยุธยาเช่นยกกองทัพไปโจมตีเมืองมะริดตะนาวศรีในดินแดนมอญทางด้านตะวันตกส่วนทางด้านทิศใต้อยุธยาได้ส่งกองทัพเข้าโจมตีมะละกาในแหลมมลายู









2 ความคิดเห็น:

  1. ผมนายบูมคั๊บป๋ม:P

    ตอบลบ
  2. ผมมีชื่อว่า : นายชนกชนม์ มีชัย
    อยู่ ม 4/11 เลขที่ 31 ครับป๋ม:P

    ตอบลบ